หนึ่งในขั้นตอนสร้างแบรนด์ยาแผนโบราณที่ทำเอาหลายคนต้องปวดหัวอย่าง “การขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ” ที่มีขั้นตอนสุดซับซ้อน และเอกสารอันมากมายที่ต้องเตรียม ทำให้หลายโรงงานรับผลิตสินค้าต้องมีบริการขึ้นทะเบียนยาเป็นตัวเลือกเสริม แต่สำหรับใครที่อยากยื่นคำขอขึ้นทะเบียนด้วยตัวเอง วันนี้ MEDICOS ได้สรุปวิธีขึ้นทะเบียนออกมาเป็นคู่มือฉบับย่อไว้ให้คุณที่นี่แล้ว
สารบัญเนื้อหา
- ชวนมารู้จักกับยาแผนโบราณ
- ทำไมต้องขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ
- ขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง
- หลักเกณฑ์เพิ่มเติม
- ค่าธรรมเนียม
- ระยะเวลาดำเนินการ
ชวนมารู้จักกับยาแผนโบราณ
ในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ได้ให้ความหมายของยาแผนโบราณว่า “ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบโรคศิลปะ แผนโบราณหรือการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศ หรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนโบราณ”
หรือสรุปง่าย ๆ คือ ยาที่อาศัยความรู้จากตำราหรือการเรียนที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ และไม่ใช้หลักวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยาเหล่านั้นต้องอยู่ในตำรับยาแผนโบราณที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศหรือได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณแล้วนั่นเอง
ทำไมต้องขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ?
เหตุผลที่ทำให้เจ้าของแบรนด์ต้องขึ้นทะเบียนยาก่อนทำการผลิตทุกครั้งก็เพราะว่ามีกฎหมายกำหนดไว้ โดยในบทพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ทั้งผู้ผลิต นำเข้า และขาย ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ จำเป็นต้องทำเรื่องขอขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ และได้รับอนุญาตก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ และผู้ใดที่ไม่ทำตามก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
หลักจากที่ได้รู้จักยาแผนโบราณ และเหตุผลที่เราต้องขึ้นทะเบียนกันไปแล้ว ในส่วนต่อไปเราจะไปดูกันว่าการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณมีขั้นตอนและต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
ขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง
การขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ มีอยู่ 3 ขั้นตอนประกอบไปด้วย
1.การขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างยาแผนโบราณ
2.การยื่นขอตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์
3.การยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ
ซึ่งในแต่ละขั้นตอนก็จะมีวิธีการดำเนินการและเอกสารที่ใช้แตกต่างกันไป จะมีอะไรบ้าง เราไปดูกัน
1.การขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าตัวอย่าง
อันดับแรกสำหรับการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณคือ การขออนุญาตผลิตหรือนำเข้ายาตัวอย่างที่เราจะนำไปใช้ในขั้นตอนลำดับต่อไป ทั้งการตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์และยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ โดยขั้นตอนการขออนุญาตในส่วนนี้จะเป็นการนำเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเราไปยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยตรง ซึ่งแบบฟอร์มและเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ ประกอบไปด้วย
1.1 แบบฟอร์ม ย.บ. 8 จำนวน 2 ชุด
1.2 เอกสารแสดงชื่อ ปริมาณของตัวยาสำคัญและส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์
1.3 เอกสารแสดงกรรมวิธีการผลิตยาโดยละเอียด
1.4 ฉลากยาทุกขนาดบรรจุ
1.5 เอกสารกำกับยา
1.6 สำเนาใบอนุญาตผลิตยาแผนโบราณ หรือสำเนาใบอนุญาตนำเข้ายาแผนโบราณปีปัจจุบัน
2.การยื่นขอตรวจเชื้อจุลินทรีย์
หลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตตัวอย่างยาแผนโบราณเรียบร้อยแล้ว ให้นำตัวอย่างยาที่ผลิตไปตรวจสอบหาเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งยาแผนโบราณต้องมีปริมาณปนเปื้อนไม่เกินขั้นต่ำที่อย. ประกาศไว้ใน “หลักเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณเกี่ยวกับมาตรฐานปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และโลหะหนัก” ซึ่งการตรวจเชื้อจุลินทรีย์สามารถยื่นได้ที่หน่วยงานที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์เกี่ยวกับจุลวิทยา
เมื่อได้ผลตรวจเชื้อจุลินทรีย์แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการนำใบ ย.บ. 8 ผลตรวจเชื้อ และเอกสารอื่น ๆ ไปยื่นที่ อย. เพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณเป็นลำดับต่อไป
3.การยื่นขอขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะเป็นการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ เพื่อให้เราสามารถดำเนินการผลิตและขายยาแผนโบราณได้อย่างถูกกฎหมาย โดยขั้นตอนการดำเนินการจะเริ่มต้นด้วยการยื่นเอกสาร ติดตามผลพิจารณา และรับสำเนาขึ้นทะเบียนยา หลังจากนั้นเราก็ได้เลขทะเบียนยาแผนโบราณ และสามารถตรวจสอบเลขได้ที่ระบบตรวจสอบการอนุญาตของอย.
เมื่อทราบขั้นตอนคร่าว ๆ แล้ว ต่อไปก็ได้เวลาเตรียมเอกสารที่ใช้ในการยื่นคำขอ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันดังนี้
ส่วนที่ 1 เอกสารหลักฐานประกอบคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณในส่วนข้อมูลทั่วไปและข้อมูลผลิตภัณฑ์ยา
3.1.1 แบบฟอร์มคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ (แบบ ย. 1) จำนวน 4 ชุด
3.1.2 ยาตัวอย่าง
3.1.3 รูปถ่าย
3.1.4 หนังสือรับรอง
3.1.5 ฉลากและเอกสารกำกับยา จำนวน 4 ชุด
3.1.6 ย.บ. 8 ฉบับจริง
3.1.7 คำรับรองผู้ยื่นขอทะเบียน (คำรับรองเงื่อนไขต่าง ๆ กับทางอย.)
ส่วนที่ 2 หลักฐานแสดงคุณภาพของยา
3.2.1 เอกสารแสดงกรรมวิธีการผลิตโดยละเอียด
3.2.2 รายงานผลตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์
ส่วนที่ 3 หลักฐานแสดงข้อมูลด้านวิชาการของตำรับยาประกอบพิจารณา
3.3.1 เอกสารวิชาการที่แสดงถึงองค์ความรู้แผนโบราณตามสรรพคุณที่ขอ
3.3.2 เอกสารข้อกำหนดมาตรฐาน (หากใช้สารกันเสีย แต่งกลิ่น สี และรสที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์)
3.3.3 เอกสารอ้างอิงชื่อวิทยาศาสตร์
หลักเกณฑ์เพิ่มเติม
นอกจากขั้นตอนและเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณแล้ว ยังมีหลักเกณฑ์เพิ่มเติมอื่นที่อาจเป็นประโยชน์เพื่อให้ยื่นคำขอได้ถูกต้องรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนี้
- ยาของเราต้องผลิตด้วยวิธีแบบแผนโบราณ และสอดคล้องกับเอกสารแสดงวิธีการผลิต
- ต้องไม่มีตัวยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสมสำคัญในผลิตภัณฑ์
- การผลิตยาแผนโบราณในรูปแบบอัดเม็ด หรือมีการใช้วัตถุกันเสีย ต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกำหนด
- สรรพคุณของผลิตภัณฑ์ตรงตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ ไม่ขัดหรือเกินจริงจากมติที่เคยอนุญาตไว้
ค่าธรรมเนียม
สำหรับการดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณก็มีค่าธรรมเนียมเช่นกัน โดยค่าใช้จ่ายในการขอขึ้นทะเบียนจะเริ่มต้นที่ประมาณ 30,000 บาทเป็นค่าธรรมเนียมใบสำคัญที่ใช้ในการขึ้นทะเบียน และค่าตรวจวิเคราะห์จุลินทรีย์
ระยะเวลาดำเนินการ
สำหรับระยะเวลาดำเนินการขอขึ้นทะเบียนเมื่อรวมทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบจะอยู่ที่ประมาณ 330 วันทำการ หรือกว่า 11 เดือนด้วยกัน เพราะฉะนั้นใครมีแผนจะสร้างแบรนด์ยาแผนโบราณก็ควรรีบติดต่อให้เร็วที่สุด
เมื่ออ่านถึงตรงนี้อาจพอทราบกันแล้วว่าการยื่นขอขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณมีขั้นตอนที่ซับซ้อน และการจัดเตรียมเอกสารที่ยุ่งยาก ด้วยเหตุนี้ MEDICOS จึงมีบริการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ และจดแจ้งอย. เครื่องสำอาง อีกทั้งยังให้การดูแลเป็นอย่างดี พร้อมให้คุณติดตามผลการดำเนินการได้ทุกเมื่อ หากสนใจผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณพร้อมบริการขึ้นทะเบียนยาสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของเราได้ฟรีเพียง คลิกที่นี่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1.สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 [ออนไลน์]. 2020. แหล่งที่มา: https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/LawDrug/drug2510-krisdika-v2020.pdf
2.สำนักคณะกรรมการอาหารและยา. คู่มือ/หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ [ออนไลน์]. 2013. แหล่งที่มา: https://www.fda.moph.go.th/sites/oss/Asking_Handbook/%E0%B8%84%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93.pdf
3.สำนักคณะกรรมการอาหารและยา. หลักเกณฑ์ การพิจารณาขึ้นทะเบียนตํารับยาแผนโบราณ เกี่ยวกับมาตรฐานการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และโลหะหนัก [ออนไลฯื]. 2004. แหล่งที่มา: https://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Law04-Notification-ThFDA/FDA-20040325.pdf