วันนี้ MEDICOS จะมาอัปเดต 6 คำศัพท์ใหม่ที่คุณต้องรู้ เพื่อที่เวลาติดต่อกับ อย. อ่านฉลากหรือทำฉลากผลิตภัณฑ์ของตัวเองจะได้เข้าใจความหมายของศัพท์ใหม่เหล่านี้ และทำได้อย่างถูกต้องไม่เสียเวลาแก้ไขทีหลัง โดยข้อมูลที่เรานำมานั้นจะอ้างอิงจากประกาศคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพร เรื่อง การแสดงชื่อผลิตภัณฑ์สมุนไพรในการขึ้นทะเบียนตำรับ แจ้งรายละเอียดหรือจดแจ้งสมุนไพร และการแสดงฉลาก และเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๔ ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมนี้เอง จะมีคำอะไรบ้างไปหาคำตอบกันเลย
ข้อความระบุเงื่อนไขในการขาย
ข้อความระบุเงื่อนไขในการขาย คือ ข้อความที่ระบุว่าผลิตภัณฑ์ของคุณจะสามารถวางจำหน่ายที่ไหนได้บ้าง โดยมีตั้งแต่สินค้าที่สามารถวางขายได้ทั่วไปตามร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ซึ่งข้อความเหล่านี้จะสื่อถึงความยากง่ายในการใช้งานผลิตภัณฑ์อีกด้วย โดยทาง อย. จะเป็นผู้ระบุให้ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณจะจัดอยู่ในประเภทไหน
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรขายทั่วไป
‘ผลิตภัณฑ์สมุนไพรขายทั่วไป’ คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่สามารถขายได้ทั่วไป โดยผู้ขายไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาต หรือก็คือผลิตภัณฑ์ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อและร้านขายของชำนั่นเอง บนฉลากจะต้องระบุคำนี้ในกรอบสีเขียว สามารถอ่านได้ชัดเจน
ใช้เฉพาะในสถานพยาบาล
ตามประกาศคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพรฉบับล่าสุดที่เพิ่งออกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ระบุไว้ว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีโอกาสก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้งาน จึวต้องจ่ายโดยแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น จะต้องระบุไว้บนฉลากชัดเจนด้วยคำว่า ‘ใช้เฉพาะในสถานพยาบาล’ ระบุในกรอบสีแดง มองเห็นได้ชัดเจน
ขายเฉพาะสถานที่มีใบอนุญาต
ในประกาศเดียวกันยังระบุความหมายของคำว่า ‘ขายเฉพาะสถานที่มีใบอนุญาต’ ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่จะวางขายได้เฉพาะร้านขายยาที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ไม่สามารถวางขายตามร้านค้าทั่วไปได้ ทั้งนี้ก็จะต้องระบุในกรอบสีแดงชัดเจนเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ใช้เฉพาะในสถานพยาบาล
ข้อความระบุประเภทผลิตภัณฑ์สมุนไพร
ยาจากสมุนไพร
เป็นคำใหม่ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้กับความหมายที่ 1 ของคำว่า ‘ผลิตภัณฑ์สมุนไพร’ ในพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ทำให้คำว่า ยาจากสมุนไพร มีความหมายว่า ยาแผนไทย ยาพัฒนาจากสมุนไพร และยาแผนโบราณ ที่ใช้เพื่อบำบัด รักษา บรรเทาความเจ็บป่วย หรือป้องกันโรค นั่นเอง โดยยาจากสมุนไพรหลายตัวก็นับเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรขายทั่วไปเช่นกัน โดยคุณสามารถคลิกดูรายชื่อที่นี่ได้เลย
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมแปรสภาพมาจากสมุนไพร สามารถนำไปใช้บำรุงร่างกาย เสริมโครงสร้างการทำงาน หรือสร้างภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพหลาย ๆ ตัวก็เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรขายทั่วไปเช่นเดียวกัน สามารถดูรายชื่อ และเงื่อนไขในประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้เลย
เวชสำอางสมุนไพร
ประเภทผลิตภัณฑ์สุดท้ายคือคำว่า เวชสำอางสมุนไพร ที่หมายความว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ กับส่วนภายนอกของร่างกายรวมถึงช่องปาก เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกาย ตัวอย่างก็เช่นเครื่องสำอางใช้กับผิวกายทั้งหลายนั่นเอง
เมื่อทราบศัพท์ทั้ง 6 คำศัพท์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เรานำมาฝากกันในวันนี้แล้ว ก็อย่าลืมใช้กันให้ถูกต้อง แต่ถ้าคุณสนใจอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับข้อกฎหมายหรือข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ MEDICOS ก็ยินดีให้คำปรึกษาคุณทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตสินค้าไปจนถึงข้อกฎหมายที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อให้เส้นทางการสร้างแบรนด์ของคุณดำเนินไปอย่างราบรื่น หากสนใจอยากมี MEDICOS เป็นผู้ช่วยสามารถคลิกที่นี่ เพื่อติดต่อผู้เชี่ยวชาญของเราได้ทันที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1. กระทรวงสาธารณสุข. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์สมุนไพรขายทั่วไป [ออนไลน์]. 2021. แหล่งที่มา: https://www.fda.moph.go.th/Herbal/SitePages/Document/NEWS/050564.pdf [25 พฤษภาคม 2021]
2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. พระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. ๒๕๖๒ [ออนไลน์]. 2019. แหล่งที่มา: https://www.fda.moph.go.th/Herbal/SitePages/Document/Law01-Herbal-Act-01.pdf [25 พฤษภาคม 2021]